นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า หลังจากกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ไทยทั้งระบบในทุกมิติอย่างต่อเนื่องตามโครงการ Taxi OK และ Taxi VIP โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยตลอดการเดินทาง ประกอบด้วย ระบบ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ, ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ, กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุร้องเรียน และมีการนำแอพพลิเคชั่น Taxi OK เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับผู้ขับรถ ปัจจุบันมีรถ Taxi OK วิ่งให้บริการแล้วจำนวนรวมเกือบ 10,000 คัน โดยมีศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ของภาคเอกชนจำนวน 18 แห่ง ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนระบบแท็กซี่ไทยตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัย รวมถึงแนวทางส่งเสริมให้ผู้ขับรถแท็กซี่ใช้ประโยชน์จากระบบแอพพลิเคชั่น Taxi OK ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความสามารถที่จำเป็นให้แก่ผู้ขับรถหรือสมาชิกในสังกัด และต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานขับรถและพร้อมให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้โดยสาร ลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า แอพพลิเคชั่น Taxi OK เปิดกว้างให้ผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถแท็กซี่ในโครงการได้ทุกคัน ทั้งรถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่และรถแท็กซี่เดิมที่เข้าร่วมโครงการภาคสมัครใจ รวมถึงมีระบบร้องเรียนหรือแสดงข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนา เช่น มารยาทคนขับ สภาพตัวรถ ความสะอาด เป็นต้น ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้สำหรับการวางแผนพัฒนาระบบการให้บริการด้วยรถแท็กซี่ให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานคุณภาพอย่างยั่งยืน เช่น มาตรการสร้างแรงจูงใจมอบรางวัลแก่พนักงานขับรถแท็กซี่ที่ไม่มีประวัติร้องเรียนและได้รับการชื่นชม หรือมอบรางวัลแก่ศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ที่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกในสังกัดไม่เคยปฏิเสธผู้โดยสาร ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการ ทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจและมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ และเพิ่มศักยภาพในการควบคุมและกำกับดูแลการให้บริการ สามารถคัดกรองรถแท็กซี่และผู้ขับรถที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานออกจากระบบให้บริการสาธารณะ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้บริการรถ TAXI VIP เป็นรูปแบบการให้บริการที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับรองรับความต้องการกลุ่มผู้โดยสาร เช่น ลูกค้าองค์กรธุรกิจ, ธุรกิจโรงแรม, นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ที่ต้องการความหรูหราสะดวกสบายและการให้บริการในการเดินทางระดับพรีเมี่ยม ปัจจุบันบริษัท ออล ไทย แท็กซี่ จำกัด ได้นำรถยนต์ Mercedes-Benz รุ่น C 350 e Avantgarde มาให้บริการแล้วจำนวน 20 คัน และเตรียมเพิ่มจำนวนรถเพื่อรองรับกลุ่มค้าในอนาคต นอกจากนี้บริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด เตรียมนำรถยนต์หรูขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า (EV) มาให้บริการเป็น Taxi VIP ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมทุกภาคส่วนในการร่วมกันยกระดับมาตรฐานแท็กซี่ไทยให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด