กรมการขนส่งทางบกเดินหน้าโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS”
กรมการขนส่งทางบก ประกาศให้ รถบรรทุก ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป และ รถโดยสารสาธารณะทั้งหมด ต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS ติดตามรถ และเป็นรุ่น GPS กรมขนส่ง ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ก่อนนำรถมาจด ต่อทะเบียน ตั้งแต่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ทางบริษัท ออริสคอม จำกัด ได้การรับรองจาก กรมการขนส่งทางบก ให้เป็นผู้จำหน่ายและบริการติดตั้งอุปกรณ์ GPS ติดตามรถ เลขที่ใบรับรอง 059/2559
กรมการขนส่งทางบก เผยความคืบหน้าโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” รถใหม่ติดตั้งGPS เข้าระบบแล้วจำนวน 5,217 คัน ยืนยัน! ระบบพร้อมรองรับข้อมูลจากรถ ทั่วประเทศเดินหน้าจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับติดตามรถทุกคันแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการขนส่งของผู้ประกอบการ ควบคู่กับกรมการขนส่งทางบก
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS”ซึ่งกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคัน และรถบรรทุกขนาดใหญ่ 10 ล้อขึ้นไป (ยกเว้นรถสองแถว และรถโดยสารหมวด 4 ที่วิ่งภายในจังหวัดในส่วนภูมิภาค) ต้องดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยี GPS หรือเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 จนถึงปัจจุบัน (4 มีนาคม 2559) มีรถโดยสารและรถบรรทุกใหม่ติดตั้ง GPS และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบกแล้ว จำนวน 5,217 คัน ในส่วนของรถเก่าที่ได้มีการติดตั้ง GPS ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบติดตามของศูนย์ฯ เรียบร้อยแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 28,397 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง 1,125 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 2,101 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง 14,914 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 10,257 คัน โดยข้อมูลของรถโดยสารและรถบรรทุกติด GPS ทั่วประเทศ จะเชื่อมโยงเข้าสู่ฐานข้อมูลของศูนย์บริหารจัดการเดินรถ ที่กรมฯ พัฒนาขึ้นรองรับ ซึ่งจะทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบ GPS ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแอพพลิเคชั่นที่สามารถติดตามผลจากเครื่องบันทึกข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการสามารถเข้าดูข้อมูลรถในสังกัดตนเองได้ผ่านทางแอพฯ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขนส่งของผู้ประกอบการ และเป็นเครื่องมือให้กรมการขนส่งทางบกสามารถติดตามกำกับรถในระบบ และนำข้อมูลมาพิจารณาแนวทางการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะแสดงผล การใช้ความเร็ว พร้อมระบบรายงานการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แสดงผลจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานขับรถ การใช้ใบขับขี่ผิดประเภท ระบบรายงานการกระทำความผิด รวมทั้งยังสามารถแสดงผลการเคลื่อนที่ของรถที่มีข้อมูลอยู่ในศูนย์ฯ ได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้รับทราบต่อไป
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการและเจ้าของรถเร่งทยอยนำรถเก่าที่ติดตั้ง GPS ไว้ก่อนแล้ว เข้ารับการตรวจสอบการเชื่อมโยงให้แล้วเสร็จภายในรอบปีภาษี 2559 มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการต่อทะเบียนได้ ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้ติดตั้ง GPS กรมฯ ให้ระยะเวลาดำเนินการดังนี้ รถโดยสารสองชั้นต้องติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2559 ส่วนรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ จะต้องดำเนินการติดตั้งให้ครบถ้วนภายในรอบปีภาษี 2560 สำหรับรถลากจูงกำหนดติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2560 รถบรรทุกสาธารณะภายในรอบปีภาษี 2561 และรถบรรทุกส่วนบุคคลให้ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรอบปีภาษี 2562 ปัจจุบัน
โดยคนขับที่จะขับรถสาธารณะนั้น ต้องรูดบัตรประจำตัวคนขับทุกครั้ง ก่อนออกรถ และเมื่อขับถึงที่หมายก็รูดอีกครั้ง ข้อมูลนี้จะช่วยบอกชั่วโมงการขับขี่ของคนขับ ว่าขับเกินเวลาหรือไม่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกส่งเข้ามายังศูนย์กลาง และมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของรถในระบบตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดการกระทำผิดเช่นขับเร็วเกินกำหนด หรือ ขับรถเกินชั่วโมงทำงาน ระบบก็จะมีแจ้งเตือนขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
ทั้งหมดนี้คือประโยชน์ของ GPS ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบ รถบรรทุก รถโดยสารของบริษัทตัวเองได้ และยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร ประชาชนทั่วไป ก็ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล GPS นี้ด้วย
แผนการดำเนินงาน โดยกรมการขนส่งทางบก
ทางกรมฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินการไว้ตามชาร์ตด้านล่างนี้
ที่มา : บทความโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” กรมการขนส่งทางบก